การจัดการการเงินส่วนบุคคลของแม่บ้าน

          การจัดการการเงินส่วนบุคคลของแม่บ้าน เรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่งในชีวิต ที่เราชาวไทยไม่ได้รับการปลูกฝัง หรือได้รับการปลูกฝังที่ไม่ถูกต้องมาตลอด คือ เรื่องการจัดการการเงินส่วนบุคคลของเรานั่นเอง เราทุกคนคงจำได้ว่าเมื่อเราเป็นเด็กเล็ก ๆ เวลาคุณพ่อคุณแม่ให้เงินเราไปใช้ที่โรงเรียน จะบอกเราว่าถ้าเหลือให้หยอดออมสินไว้นะ ธนาคารออมสินก็แจกกระปุกออมสินในวันเด็กกันทุกปี เรามีกระปุกออมสินกันคนละหลาย ๆ ใบ บางคนก็ขยันหยอดเดี๋ยวเต็มเดี๋ยวเต็ม มีกระปุกหนัก ๆ เก็บไว้เต็มบ้าน                                                                                                                     นั่นคือ การสอนการใช้เงินให้ลูกหลานของไทย ถ้าถามว่าหยอดกระปุกไปทำไม เด็กก็จะตอบว่าหยอดเพื่อออมเงินไว้ ถามต่อว่าแล้วออมไปทำไม ออมไปทำไมก็ยังไม่รู้ บางคนออมเต็มแล้วก็ทุบออกมาใช้จนหมดทีเดียว เพราะเราไม่ได้ถูกสอนให้รู้จักการจัดการเงินที่ถูกต้อง เราผิดกันมาตั้งแต่ก้าวแรกของชีวิตแล้ว เราใช้ก่อนเหลือเท่าไรค่อยเก็บออม

                          ถ้าเป็นสมการก็คือ เงินที่มี – เงินที่ใช้ = เงินที่ออม หรือ รายรับ – รายจ่าย = เงินออม

จะต้องออมเท่าไรใช้เท่าไรก็ไม่รู้ วันนี้ จะสรุปสั้น ๆ ให้คุณแม่บ้านเข้าใจง่าย ๆ กันนะคะ หลักการง่าย ๆ โดยเปลี่ยนสมการนิดหน่อย ให้ออมก่อนจ่าย ไม่ใช่จ่ายก่อน ที่เหลือค่อยออม เป็น รายรับ – เงินออม = รายจ่าย
รับเท่าไรเรารู้อยู่แล้ว จ่ายเท่าไรเราต้องคุมให้อยู่ ว่าแต่จะออมเท่าไรล่ะสิ จะออมเท่าไรขึ้นกับเราตั้งเป้าหมาย จะทำอะไร ต้องตั้งเป้าหมายก่อนสิ ถึงจะบอกได้ว่าต้องออมเท่าไร

          เช่น ถ้าตั้งเป้าว่าจะออมไว้เผื่อมีเรื่องฉุกเฉิน ก็ให้ดูว่าปกติใช้อยู่เดือนเท่าไร สมมุติเดือนละ 10,000 จะพออยู่พอกินสบาย ๆ แล้วเผื่อฉุกเฉินหาเงินไม่ได้ เช่นเกิดโควิดตกงาน จะต้องควักเงินออมแทนรายได้มากินข้าวไปก่อนกี่เดือน ถ้ากะว่าตกงานหกเดือนน่าจะหางานได้แล้ว ก็ต้องออมให้มีเงินใช้ฉุกเฉินได้ 6 เดือน คือ 60,000 นั่นเอง หาได้แล้วว่าต้องมีเงินออมเท่าไรสำหรับเป้าหมายเผื่อฉุกเฉินนี้ ตามสมการ รายรับ – เงินออม = รายจ่าย                        ถ้าเราหาเงินได้เดือนละ 13,000 อยากออมให้บรรลุเป้าหมาย60,000 เร็ว ๆ เดือนแรก ๆ ที่ทำงานก็ต้องใช้น้อย ๆ ก่อน รู้ได้เลยว่าถ้ากำหนดว่าอยากจะออมแค่10 เดือน ต้องออมเดือนละ 6,000 รู้เลยว่าพอออมไปแล้วจะเหลือให้ใช้ได้แค่เดือนละ 7,000 เราก็ต้องพยายามใช้ให้อยู่ใน 7,000 ไปก่อนนาน 10 เดือน ก็จะบรรลุเป้าหมายไปหนึ่งเป้าแล้ว        พอครบ 10 เดือน เรามี 60,000 แล้วคราวนี้เราเก็บไว้เลยก้อนนี้ สำหรับใช้เมื่อฉุกเฉินเท่านั้น สมการเราก็ลงตัว ไปแล้วหนึ่ง รายรับ13,000-เงินออม6,000=รายจ่าย7,000 ทำอยู่ 10 เดือนเสร็จ ต่อมาถ้าอยากลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้า จะต้องใช้เงินลงทุน 30,000 ก็ต้องเก็บให้ได้เดือนละหมื่นสิ

          สมการเราก็ควรเป็น รายรับ13,000-เงินออม10,000=รายจ่าย3,000 แต่3,000 เราไม่พอใช้นี่ เราไม่อยากกู้หนี้ด้วย ทำไงดี เราก็ต้องไปเพิ่มรายรับสิ ต้องไปหางานพิเศษทำ ได้อีกสักเดือนละ 4,000 ก็บรรลุเป้าหมาย ลงทุนได้ใน 3 เดือนข้างหน้า ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้ใครด้วย แค่ทำงานเพิ่มอีกอาทิตย์ละวันก็ได้แล้ว 3 เดือนผ่านไป เป้าหมายที่ 2 ก็บรรลุไปอีกหนึ่ง เงินที่ลงทุนไป 3หมื่น เมื่อได้กำไร ก็จะมาเพิ่มรายรับให้เรามากขึ้นทุกเดือน

เราก็ใช้หลักการ “ออมก่อนใช้” อย่างนี้ไปตลอดช่วงเวลาทำงานของชีวิตเรา โดยตั้งเป้าหมายที่ 3 ว่าเมื่อเกษียณจากงานแล้วเราจะอยากมีเงินใช้ เดือนละเท่าไร ก็จัดการออม หรือ หาเงินเพิ่ม หรือลงทุนเพิ่ม ไปได้อย่างแฮปปี้มีอิสระตามแผนการจัดการการเงินของเรา เป็นระบบดีออก