การดูแลชุดว่ายน้ำ

          การดูแลรักษาชุดว่ายน้ำ ชุดว่ายน้ำเป็นสิ่งหนึ่งที่ คุณแม่บ้านแทบทุกคนใฝ่ฝัน และจะต้องซื้อหามาติดบ้านกันแทบทุกหลัง บางบ้านก็เก็บสะสมกันในลักษณะแอบซุก หรือ ปกปิดเป็นความลับกันเสียด้วยซ้ำ บางคนทั้งชีวิตก็ไม่เคยได้นำมาใส่โชว์ให้คุ้มกับราคาเลย บางคนก็หยิบมาลองบ้างแต่ไม่ค่อยได้ใช้บ่อยนัก บางทีปีนึงก็หยิบมาใช้แค่ครั้งเดียว หรือ เก็บลืมไปเลยก็มี ถ้าเราไม่รู้วิธีการดูแลรักษาชุดว่ายน้ำที่ถูกต้อง อาจทำให้เมื่อถึงคราวที่ต้องการจะโชว์ พอจะไปหยิบใช้อาจต้อง พบปัญหาชุดว่ายตัวเก่งของเรายืดย้วยเสียหายไปหมด จะหาใหม่ก็ไม่ทันการแล้ว คุณแม่บ้านจึงควรทราบวิธีการดูแลรักษาชุดว่ายน้ำไว้เพื่อให้เจ้า  ” Secret Love ” นี้ สดใสใช้งานได้ทุกครา ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ก่อนอื่นถ้าเป็นชุดว่ายน้ำไฉไลเอี่ยมอ่องแกะกล่องออกมาใหม่ บางครั้งจะมีสีตกค้างอยู่จากการผลิต                             ให้คุณแม่บ้านแช่ชุดนั้น ลงในน้ำเปล่า 2 ลิตรที่ผสมกับน้ำส้มสายชูกลั่น 1 ช้อนโต๊ะ ประมาณครึ่งชั่วโมง                       เพื่อช่วยให้สีสันของชุดสวยติดทนไม่ซีดจางก่อนเวลาอันควร จากนั้นจึงซักปกติ โดยแยกซักเพื่อ                               ป้องกันไม่ให้สีตกใส่ชุดอื่น
ขั้นตอนที่ 2 การซักชุดว่ายน้ำ ให้ใช้น้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติ (ลงทุนหน่อย แต่ละชุดแพงทั้งนั้นเทียบกับขนาดชุด                         แล้ว น้ำสะอาดน่ะ ขอที่สะอาดขนาดน้ำดื่มของเรานั่นเลยนะ) กดให้น้ำออกอย่างเบามือ ไม่ขยำขยี้                               ค่อย ๆ บีบ ทำซ้ำ ๆ 3-4 ครั้ง ห้ามซักด้วยน้ำอุ่น ห้ามขูด ห้ามดึง ในขณะชุดเปียกเด็ดขาด ชุดว่ายน้ำที่มี                       การปักเลื่อมหรือลูกปัดยิ่งต้องระมัดระวังมากขึ้น ถ้ากังวลเรื่องความสะอาดก็สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ซัก                         ชุดว่ายน้ำหรือสบู่อ่อน ๆ ได้
ขั้นตอนที่ 3 การตาก ให้หาที่ตากที่เหมาะสม คือต้องเป็นที่ร่ม มีลมโกรก หลีกเลี่ยงความร้อนและแสงแดดโดยตรง                         เพราะแสงแดดและความร้อนจะเป็นตัวทำลายความยืดหยุ่นของเนื้อผ้าพวก Lycra และ Spandex ที่ใช้                       ทำชุดว่ายน้ำ ทำให้ยืดย้วยหย่อนยานและสีสันซีดเซียว
ขั้นตอนที่ 4 ไม่ควรให้ชุดว่ายน้ำสัมผัสกับครีมกันแดดโดยตรง ดังนั้นเวลาที่เราทาครีมกันแดดแล้ว                                                   ควรรอให้เนื้อครีมเซตตัวเสียก่อนจึงใส่ชุดว่ายน้ำ
ขั้นตอนที่ 5 ก่อนที่คุณแม่บ้านจะลงน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำในสระหรือน้ำทะเล ให้ใส่ชุดว่ายน้ำนั้นอาบน้ำด้วยฝักบัวหรือ                         แช่ชุดลงในน้ำเปล่าก่อน เพื่อให้ชุดชุ่มน้ำ เป็นการลดความสามารถในการดูดซึมคลอรีนหรือน้ำเกลือ                           ให้น้อยลง จะช่วยดูแลชุดว่ายน้ำให้ใช้ได้คงทนยาวนานมากขึ้น
ขั้นตอนที่ 6 ทุกครั้งที่ใช้งานเสร็จ ควรซักชุดว่ายน้ำด้วยมือในน้ำสบู่อ่อนทันที แล้วเปิดน้ำเปล่าให้ไหลผ่านชุดนาน ๆ
ขั้นตอนที่ 7 เราจะจำไว้เสมอว่า ชุดว่ายน้ำหรือบิกินี่ เป็นสิ่งที่ใส่ลงไปในเครื่องซักผ้าไม่ได้เด็ดขาด เพราะแรงเหวี่ยง                       ขูดกระชากลากถูจากเครื่องซักผ้าจะทำให้เนื้อผ้าที่ใช้ทำชุดว่ายน้ำยืดย้วยเสียรูป รวมถึงฟองน้ำด้วยที่                         จะเสียทรง ใส่แล้วไม่สวยเหมือนเดิมไปเลย
ขั้นตอนที่ 8 ไม่ควรปล่อยชุดว่ายน้ำทิ้งไว้ให้เปียกชื้นค้างเวลาค้างคืน เพราะความชื้นหมักหมมจะทำให้เกิดเชื้อรา                           ในส่วนที่เรามองไม่เห็น เช่นที่ตัวฟองน้ำเสริมทรง จึงควรนำมาผึ่งทันทีที่มีโอกาส ชุดว่ายน้ำต้องการ                           เวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมงที่จะให้แห้งสนิทและคืนรูป ซึ่งจะช่วยลดปัญหาชุดว่ายน้ำยืด
ขั้นตอนที่ 9 ในกรณีที่ชุดว่ายน้ำตัวเก่งของคุณแม่บ้านเป็นสีขาว ที่ได้กลายเป็นสีเหลืองไปเสียแล้วเพราะถูกคลอรีน                       ในสระว่ายน้ำ เรื่องนี้ก็สามารถแก้ไขได้ โดยนำไปจุ่มแช่ในน้ำส้มสายชูกลั่น แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด                       แต่อย่าใช้สารฟอกขาวเด็ดขาด แล้วนำไปตากให้แห้ง
ขั้นตอนที่ 10 เมื่อจะเก็บรักษา คุณแม่บ้านต้องมั่นใจว่าชุดว่ายน้ำแห้งสนิทจริง ๆ การเก็บไม่ควรพับเก็บในตู้ลิ้นชัก                             แบบชุดชั้นใน แต่ควรแขวนและคลุมด้วยถุงพลาสติกลักษณะเหมือนเสื้อผ้าพวกสูท ไว้ในที่                                         ที่ไม่มีแสงแดดส่องถึง และยังมีอีกวิธี

สำหรับคุณแม่บ้านที่ไม่ติดว่าเสื้อผ้าควรต้องอยู่เป็นหมวดหมู่เดียวกัน คือ ใส่ถุงพลาสติกใส หรือ ถุงซิปเก็บแช่ไว้ในตู้เย็น ไม่ต้องแช่ช่องแข็งนะจ๊ะ เพื่อเนื้อผ้าจะไม่เสียความยืดหยุ่นและช่วยยืดอายุการใช้งานของชุดว่ายน้ำแสนรักของเราด้วย เพียงเท่านี้ก็จะช่วยยืดอายุชุดว่ายน้ำหรือบิกินี่ตัวจิ๋วของคุณแม่บ้านได้อีกนานเลยทีเดียว